วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประเพณีนมัสการพระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง ของจังหวัดเชียงราย



พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง นับเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคเหนือและเป็นปฐมเจดีย์ในดินแดนล้านนา ทุก ๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปนมัสการพระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุงอันศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งชมทิวทัศน์และทัศนียภาพบนดอยตุง เมื่อถึงกำหนดวันเพ็ญเดือน ๖ เหนือ (ราวมีนาคม) จะมีประเพณีนมัสการที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัด ศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธา ทั้งชาวเชียงรายเอง ชาวจังหวัดใกล้เคียง ชาวเชียงตุงจากรัฐฉาน ประเทศพม่า ชาวหลวงพระบาง จากประเทศลาว ตลอดถึงชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ก็จะหลั่งไหลขึ้นไปนมัสการในวันสำคัญนี้อย่างเนืองแน่น
งานประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุเจ้าดอยตุง จะได้พบเห็นภาพวัฒนธรรมประเพณีงดงามเป็นเอกลักษ์ของภาคเหนือ ภาพพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยพื้นถิ่น ชาวไทยภูเขา และพุทธศาสนิกชนจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงนับหมื่นคน ร่วมกันเดินแสวงบุญขึ้นดอยตุงกันอย่างคึกคักเป็นระยะทางร่วม 10 กิโลเมตร เพื่อนำเครื่องสักการะมานมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุงอันพระธาตุดอยตุงนี้ มีตำนานเล่าขานว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช ผู้เป็นกษัตริย์แห่งนครโยนกนาคพันธ์ โดยพระองค์ได้ทำ 'ตุง' (หมายถึง 'ธง' ในภาษากลาง) มีความยาวถึงหนึ่งพันวาไปปักไว้บนยอดเขา หากตุงปลิวไปถึงที่ไหนก็ให้สร้างองค์พระเจดีย์ขึ้นที่นั่น เพื่อบรรจุพระรากแก้วขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาต่อมาได้มีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวายพระโอรสของพระเจ้าอชุตราช พระองค์จึงโปรดให้สร้างกระเจดีย์อีกองค์เคียงข้างองค์เดิม พระธาตุดอยตุงจึงมีเจดีย์สององค์ยืนตระหง่านคู่กันนับแต่นั้นมา
นับจากนั้นทุกปี จะมีการสรงน้ำพระธาตุดอยตุง อันเป็นประเพณีแสนงดงามที่ได้รับการอนุรักษ์มายาวนาน โดยถือกันว่าพระธาตุดอยตุงซึ่งประดิษฐานอยู่เหนือระดับน้ำทะเลถึง 4,000 ฟุตนั้น เป็นเจดีย์คู่ปีกุน ผู้เกิดในปีดังกล่าวจึงนิยมเดินทางมานมัสการและปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณโดยรอบพระธาตุเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และแม้จะไม่ได้เกิดในปีดังกล่าวก็ยังสามารถเดินทางมาร่วมนมัสการพระธาตุคู่บุญเมืองเชียงรายกันได้โดยไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด 

         นางสาว วิไลรัตน์ ขาวดา คณะพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 2  มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น   รหัสนิสิต 5305110026 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น